Home » Feasibility Study ศึกษา 5 ความเป็นไปได้ของธุรกิจเบื้องต้น
ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่หรือขยายธุรกิจที่มีอยู่จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ Feasibility Study จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินความพร้อม และความเป็นไปได้ของธุรกิจในหลายด้าน ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยง แต่ยังเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จในตลาดอีกด้วย สำหรับเจ้าของธุรกิจมือใหม่ที่ต้องการประเมินความเป็นได้เบื้องต้น ก่อนที่จะปรึกษาบริษัทเอเจนซี่หรือที่ปรึกษาทางการตลาด คุณอาจเริ่มต้นจากการสำรวจและทำความรู้จักธุรกิจของคุณมากขึ้นจากข้อมูลต่อไปนี้
5 Feasibility Study ศึกษาความเป็นไปได้ (เบื้องต้น) ของธุรกิจ
ก่อนที่จะพิจารณาหรือศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจด้วย Feasibility Study ควรทำความเข้าใจและรู้จักเทคนิคนี้ก่อนว่ามีความสำคัญอย่างไร และทำไมเจ้าของธุรกิจหลายคนที่เคยมีประสบการณ์มาก่อนจึงแนะนำให้ผู้ประกอบการมือใหม่ลองศึกษาด้วยตนเอง เพื่อประเมินศักยภาพและความเสี่ยงของธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบและลดความเสี่ยงในการลงทุน
Feasibility หมายถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ดังนั้นการทำ ‘Feasibility Study’ จำเป็นต้องมี ‘โครงการ’ ก่อน ทั้งนี้นิยามของโครงการอาจหมายถึงสิ่งที่เป็นความฝัน ไอเดียใหม่ ๆ หรือสิ่งที่ต้องการทำให้เป็นธุรกิจและสร้างรายได้ คุณสามารถนำเทคนิค Feasibility Study มาปรับใช้ในการศึกษาธุรกิจผ่าน 5 ข้อของ Feasibility Analysis ดังนี้
- Market Feasibility
- Production Feasibility
- Law & Regulation Feasibility
- Business Model Feasibility
- Financial Feasibility
1.Market Feasibility - ความต้องการในตลาด
การวิเคราะห์ตลาดเป็นขั้นตอนแรกใน Feasibility Study โดยศึกษาตลาดนั้น ๆ รวมถึงวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ขนาดของตลาด แนวโน้มตลาด การแข่งขัน และความต้องการของลูกค้ามากหรือน้อย พิจารณาร่วมกับจำนวนคู่แข่งในปัจจุบันเพื่อเทียบกับความต้องการในท้องตลาด พร้อมเจาะลึกลงไปอีกว่าความต้องการเพียงพอสำหรับการสร้างธุรกิจใหม่หรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจมือใหม่สามารถวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างจุดแข็งในการแข่งขันได้
2.Production Feasibility - ผลิตได้จริง
การศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงการผลิต คือ การศึกษาขั้นตอนดำเนินการและกระบวนการในการผลิตทั้งหมด รวมถึงการประเมินเทคโนโลยีที่จำเป็น วัสดุอุปกรณ์ ทรัพยากรที่ต้องใช้ และความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการ (กี่ชิ้นหรือกี่ครั้ง) ซึ่งการประเมินนี้ช่วยให้สามารถระบุปัญหาทางเทคนิคที่อาจเกิดขึ้นและหาแนวทางแก้ไขก่อนการลงทุน ประกอบกับการวิเคราะห์ในแง่มุมของคุณภาพ ราคา ปริมาณ หรือเวลาที่พอเหมาะพอดีกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
3.Law & Regulation Feasibility - ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ความเป็นไปได้ในเชิงกฎหมาย คือ การศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ซึ่งอาจมีข้อกำหนดแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือไอเดียสดใหม่จะมีความน่าสนใจและติดกระแสเพียงใด แต่หากไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ หรือผิดตามระเบียบข้อบังคับ การเปิดธุรกิจใหม่ก็อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังได้ เบื้องต้นควรศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เช่น การจัดตั้งบริษัท การขออนุญาต และการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและภาษี เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการละเลยด้านกฎหมายอาจนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมายที่ส่งผลเสียต่อธุรกิจในระยะยาว
4.Business Model Feasibility - รูปแบบการสร้างรายได้
รูปแบบการสร้างรายได้ในธุรกิจมีหลายช่องทาง แต่ละช่องทางอาจทำกำไรได้มากหรือน้อยแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือความสามารถในการทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้นั่นเอง
เมื่อธุรกิจได้ผ่านการสำรวจความเป็นไปได้และความเหมาะสมของรูปแบบการสร้างรายได้ รวมถึงการตรวจสอบกำไรอย่างเหมาะสม ไม่ว่าธุรกิจจะมีไอเดียใหม่ ๆ หรือเป็นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน ถึงแม้จะมองเห็นความได้เปรียบในเรื่องไอเดียและความโดดเด่นไม่เหมือนใคร แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการพิจารณาโครงสร้างทางการเงิน การวิเคราะห์ตัวเลขที่สามารถอ้างอิงได้จริงและสามารถสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน การเขียนแผนธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม และการทำ Feasibility จะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน และช่วยให้เจ้าของธุรกิจเห็นภาพรวมได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
5.Financial Feasibility - คุ้มไหมที่จะลงทุน
ด้านการเงินเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาใน Feasibility Study ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ต้นทุน การประมาณการรายได้ และการคำนวณกำไร การศึกษาด้านการเงินช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นภาพรวมของค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมพร้อมและประเมินว่าธุรกิจนั้นมีความเป็นไปได้ทางการเงินมากหรือน้อยอย่างไร
ซึ่งนอกจากการประเมินในแง่ภายในองค์กรแล้ว อาจนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ประเมินความเป็นไปได้ทางตลาดและการผลิตร่วมด้วย สามารถทดลองใช้ Financial Feasibility Canvas: FFC หรือ เป็นเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยไม่ตัดสินใจลงทุนจากประสบการณ์ ความรัก ความชอบในสินค้าหรือบริการที่ต้องการจะลงทุนเพียงอย่างเดียว ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินได้อย่างแม่นยำว่าธุรกิจที่กำลังวางแผนอยู่นั้นคุ้มค่าในการลงทุนมากน้อยเพียงใด
Feasibility Study ถือเป็นเทคนิคหรือเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจในหลากหลายด้าน ช่วยให้ผู้ประกอบการมือใหม่สามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบและมีข้อมูลที่เพียงพอ รู้จักธุรกิจมากพอในการดำเนินโครงการใหม่ ๆ หรือการขยายสาขาเพิ่มจากเดิม ความเป็นไปได้ที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจ แต่ยังเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จในระยะยาวอีกด้วย